โฮมฮับไอเดีย

ผลิตภัณฑ์สี

ผลิตภัณฑ์สี

การเลือกใช้ทินเนอร์ให้ถูกกับงาน

ทินเนอร์ เป็นสารเคมีที่มีการใช้อย่างแพร่หลาย มักนำมาใช้ผสมในสีประเภทต่าง ๆ เพื่อปรับความข้น หรือล้างทำความสะอาดอุปกรณ์สี ในท้องตลาดเรามักจะเห็นทินเนอร์มากมายมีหลายคุณภาพหลายเกรดเช่น 2K AAA Acrylic แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าทินเนอร์แต่ละเกรดนั้นเหมาะกับการใช้งานประเภทไหนบ้าง แล้วราคาที่เราซื้อมานั้นเหมาะสมกับคุณภาพผลงานเราหรือไม่ วันนี้เราจะมาแชร์ให้ทุกท่านได้รู้กัน

  • ทินเนอร์ เกรดสูง AAA ทินเนอร์คุณภาพ มีประสิทธิภาพในการทำละลายสูง ป้องกันการเกิดฝ้าให้ความเงางามสูง เหมาะสำหรับงานอุตสาหกรรมทั่วไป สีพ่น สีรองพื้น งานไม้ งานเฟอร์นิเจอร์ ใช้งานง่าย แห้งเร็ว และใช้งานได้อเนกประสงค์เหมาะสำหรับเช็ดล้างและทำความสะอาด เครื่องมือที่ใช้ในงานสี ทำความสะอาดคราบน้ำมัน หรือผสมสีทั่วไป
  • เกรดมาตรฐาน ทินเนอร์คุณภาพมาตรฐาน ใช้งานได้อเนกประสงค์ เหมาะสำหรับเช็ดล้างทำความสะอาด เครื่องมือที่ใช้ในงานสี ทำความสะอาดเครื่องจักรหรือผสมงานสีทั่วไป
  • เกรดเช็ดล้างและผสมรองพื้น ทินเนอร์สูตรพิเศษ เหมาะสำหรับ เช็ดล้างทำความสะอาดเครื่องมือสีผสมสีรองพื้นทั่วไป แห้งเร็ว กลิ่นไม่ฉุน มีความบริสุทธิ์สูง
  • เกรดงานรถยนต์ ทินเนอร์ 2K เหมาะสำหรับผสมกับผลิตภัณฑ์กลุ่มรถยนต์คุณภาพสูง เช่น สีพ่นรถยนต์ 2K, และสีพ่นรถยนต์ทั่วไปให้ความเงางามสูง เพิ่มการกระจายตัวของเนื้อสี ผิวเรียบเนียน ไม่เป็นฝ้า ดีต่อผู้ใช้ ไม่ระคายผิว ไม่แสบมือ เหมาะกับงาน คุณภาพพิเศษ
  • ทินเนอร์ อะครีลิค เหมาะสำหรับผสม แลคเกอร์อะครีลิค หรือสีพ่นอะครีลิค ทุกประเภท ช่วยปรับความมัน ป้องกันฝ้าโดยเฉพาะในบริเวณ ที่มีความเย็นและชื้นสูง ป้องกันสีหมองคล้ำในระยะยาว เนื้อสี สวยสด เงา

สีรองพื้น คือ ?

สีรองพื้น(Primer) ใช้สำหรับรองพื้น ทำหน้าที่หยุดและป้องกันปัญหา ที่เกิดการทาสีในอนาคต เช่น ปัญหาด่าง-เกลือ ปัญหาเชื้อรา ปัญหาฝุ่นชอล์ก ปัญหาซีดจาง ปัญหาลอกโป่งพอง ปัญหาเชื้อราตะใคร่น้ำ หรือปัญหาสนิม และช่วยให้สีทับหน้ายึดเกาะกับพื้นผิวดีขึ้น ถ้าไม่ทารองพื้น อาจทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ได้

สีรองพื้นนั้น เป็นหนึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้ในงานทาสีบ้าน อาคาร เพราะไม่ว่าจะเป็นผนังอาคารเก่า หรือผนังอาคาร ที่เพิ่งสร้างใหม่ ก็จำเป็นต้องทาสีรองพื้น ก่อนทาสีทับหน้าเสมอ เพื่อให้สีทับหน้า หรือเฉดสีที่เราต้องการทาบนผนังนั้น คงอยู่ได้นานตามอายุของมัน ไม่หลุดล่อน หรือบวมพองไปตามสภาพอากาศ หรือความชื้น ตัวสีรองพื้นนั้น เปรียบเสมือน ตัวช่วยเพิ่มแรงยึดเกาะ ให้กับสีทาบ้าน และในบางรุ่น ยังมีคุณสมบัติเสริม เช่น กันเชื้อรา ช่วยเสริมให้สีทับหน้าเด่นชัดขึ้น ไม่ผิดเพี้ยน เป็นต้น

ประเภทสีรองพื้น

  • สีรองพื้นปูนใหม่ คือ สีที่ใช้สำหรับพื้นที่ทำการก่อสร้างใหม่ โดยก่อนที่จะทาสีรองพื้นได้ ต้องให้ผนังแห้งอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 30 วันก่อน จึงจะทาสีรองพื้น
  • สีรองพื้นปูนเก่า เป็นสีที่ใช้สำหรับทารองพื้นปูนเก่า คือ ใช้กับผนังที่เคยผ่านการทาสีมาก่อนหน้าแล้ว แต่ก่อนที่จะทา สีรองพื้น ลงบนพื้นปูนเก่าได้ ต้องทำความสะอาดพื้นผิวให้เรียบร้อยก่อน มิฉะนั้นจะไม่ได้ผลเท่าที่ควร
  • สีรองพื้นอเนกประสงค์ คือ สีรองพื้นที่ใช้ได้ทั้งงานพื้นปูนใหม่ และงานพื้นปูนเก่า เป็นสีรองพื้นที่ทนความชื้นสูงได้ถึง 40% หรือสามารถทาบนปูน ที่ฉาบใหม่ ที่ทิ้งให้แห้งเพียง 7 วัน ทั้ง ๆ ที่ปูนฉาบจริง ต้องรอปูนคายความชื้น ประมาณ 30 วัน ตามท้องตลาด มีอยู่หลายแบรนด์ ฟิล์มสีที่ได้ เป็นสีขาวและเป็นสูตรน้ำมัน ซึ่งมีการยึดเกาะที่ดีอีกด้วย

วิธีการเลือกสีรองพื้น ทำได้อย่างไร?

วิธีการเลือกสีรองพื้น ให้สังเกตผนัง ที่เราต้องการใช้งาน ว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร? เพิ่งฉาบมาใหม่? หรือฉาบทิ้งไว้นานแล้ว เคยทาสีมาแล้วหรือไม่? จะต้องเลือกใช้ให้เหมาะสม โดยจะแบ่งออกเป็น 3 แบบ

  1. ผนังฉาบใหม่ บ้านสร้างใหม่ ใช้สีรองพื้นปูนใหม่ สีรองพื้นปูนใหม่ ถูกพัฒนาขึ้นมา ให้ใช้กับบ้านสร้างใหม่ที่ก่อสร้าง ฉาบปูน และปล่อยให้ปูนคายด่าง ครบระยะเวลา คือ ประมาณ 30 วัน เสร็จเรียบร้อย โดยหน้าที่หลัก คือ กันด่าง หรือที่เรียกกันว่า “สีรองพื้นปูนใหม่กันด่าง” ที่มักจะเห็นข้างบรรจุภัณฑ์ นั่นเอง
  2. ผนังเก่า บ้านสร้างนานแล้ว เคยทาสีมาก่อน น้ำยารองพื้นปูนเก่า หรือสีรองพื้นปูนเก่า มีลักษณะเป็นน้ำมันใส ๆ และมีกลิ่น คุณสมบัติเด่นของสีรองพื้นปูนเก่า คือ การแทรกซึม และยึดเกาะพื้นผิวได้อย่างยอดเยี่ยม ช่วยล็อกฝุ่นชอล์ก ที่เสื่อมสภาพ หรือเศษฟิล์มสี ที่ขัดออกไม่เกลี้ยงดี ให้ยึดติดอยู่กับพื้นผิวไม่หลุดลอกออกมา
  3. สีรองพื้นอเนกประสงค์ เหมาะกับบ้านที่ต้องการทาสีบ้านเร่งด่วน สีรองพื้นอเนกประสงค์ ถูกออกแบบพัฒนามาเพื่อ บ้านที่อยู่นอกเงื่อนไขของ 2 ข้อด้านบน ไม่ว่าจะเป็นบ้านที่มีผนังปูนใหม่ เพิ่งฉาบเสร็จได้ไม่กี่วัน รอให้คายด่างตามระยะเวลา 30 วันไม่ได้ หรือผนังปูนเก่าที่ต้องรีบทาสี ไปจนถึงวันที่ฝนตกแล้วต้องทาสี เคสเหล่านี้ สีรองพื้นอเนกประสงค์ สามารถช่วยได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม หากต้องการนำมาใช้งานกับผนังปูนเก่า ก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยพิจารณาจาก สภาพผิวปูน หากไม่เสื่อมสภาพมากจนเกินไป เราก็สามารถใช้สีรองพื้นเอนกประสงค์กลุ่มนี้แทนได้เช่นกัน

เหตุผลที่ต้องใช้สีรองพื้นก่อนทาสีจริง คือ ?

หลาย ๆ คน อาจจะคิดว่า จำเป็นด้วยหรอ ที่ต้องทาสีรองพื้น ก่อนที่จะทาจริง เราสามารถทาทับหลาย ๆ รอบแทนการทาสีรองพื้นได้หรือไม่ ความจริงแล้วก็ได้เช่นกัน แต่ประสิทธิภาพ อาจจะไม่เหมือนกัน โดยคุณสมบัติของสีรองพื้น จะต่างจากสีธรรมดาหลายอย่าง โดยเหตุผลที่เราควรทาสีรองพื้น คือ

  • ป้องกันการหลุดร่อน สีทาบ้าน ที่มีอายุการใช้งานมายาวนาน มักจะมีปัญหาเกี่ยวกับสีหลุดร่อน หากเป็นสีที่ไม่มีคุณภาพ ก็จะหลุดเร็วหน่อย และถ้าไม่ได้ใช้สีรองพื้นด้วย อายุการใช้งานก็จะสั้นลงเช่นกัน
  • เพิ่มประสิทธิภาพการยึดเกาะ ข้อนี้ เป็นเหตุผลหลักในการใช้สีรองพื้นเลยก็ว่าได้ โดยสีรองพื้น จะไปช่วยเพิ่มการยึดเกาะระหว่างผนังกับสีจริง ให้ติดทานาน ไม่เป็นฝุ่นหลุดมือ ขณะที่สัมผัส
  • ป้องกันการเกิดคราบ ปัญหาที่พบเจอบ่อย เมื่อสีโดนน้ำ คือ มักจะเกิดคราบ หรือตะไคร่น้ำ แต่ถ้ามีการทาสีรองพื้นก่อนที่จะทาสีจริง ก็จะช่วยป้องกันปัญหาเหล่านี้ได้ โดยที่ไม่ต้องมาเสียเวลาในการทาสีใหม่ทั้งหมด เพราะมีการป้องกันที่ดีอยู่แล้ว

สีเคลือบเงา คืออะไร ?

สีเคลือบเงา หรือที่หลายๆ คนอาจรู้จักในชื่อของสีน้ำมัน ผลิตมาจากแอลคิดเรซินผสมกับสี พอทาแล้วจะมีลักษณะเป็นสีเคลือบ และมีความเงา จึงถูกเรียกว่าเป็นสีเคลือบเงานั่นเอง สีชนิดนี้มีความเข้มข้นสูง จึงต้องนำไปเจือจาง หรือผสมกับทินเนอร์ หรือตัวทำละลายอื่นๆ ก่อนใช้งาน

ทางด้านคุณสมบัติ เจ้าสีตัวนี้สามารถเพิ่มความเงางาม ช่วยในการดูแลรักษาและทำความสะอาด รวมถึงช่วยปกป้องผิวของวัสดุที่ทาให้มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม และสภาพอากาศ อีกทั้งป้องกันสนิม และเชื้อรา พร้อมยืดอายุการใช้งานไปในตัว

สีเคลือบเงาใช้งานกับอะไรได้บ้าง ?

สีเคลือบเงานิยมใช้กับงานเหล็ก และงานไม้ แต่ไม่นิยมใช้ในงานปูนซีเมนต์ เพราะพื้นผิวปูนมีความชื้น เมื่อทาสีตัวนี้ลงไปจึงอาจเกิดปฏิกิริยาไขสบู่ได้ กล่าวคือ กรดและด่างมาเจอกัน ทำให้เกิดชั้นไขสบู่แทรกขึ้นมาระหว่างพื้นผิวปูน และสีเคลือบเงา ส่งผลให้ฟิล์มสีเหนียว และหลุดล่อนออกมาเมื่อแห้ง ดังนั้น หากต้องการทาพื้นผิวปูนควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับทาบ้าน หรือทาปูนเลยจะดีกว่า

  • งานไม้ การทาสีเคลือบเงาไม้ ควรเลือกทารองพื้นให้เหมาะสมก่อนทาสีเคลือบเงา เพื่อช่วยเสริมให้สีนั้นมีประสิทธิภาพดีเยี่ยมมากขึ้น โดยคุณสมบัติของสีเคลือบเงาไม้นั้นจะช่วยเพิ่มความทนทาน และแข็งแรงให้กับผิวไม้ ช่วยกันน้ำซึม กันปลวก และกันเชื้อรา ยืดอายุการใช้งานของไม้ให้ยาวนาน
  • งานเหล็ก การทาสีเคลือบเงาเหล็ก ก็ควรเลือกทารองพื้นให้เหมาะสมก่อนเช่นกัน อาจจะดูว่าเหล็กที่ต้องการทาสีเคลือบเงานั้นเป็นเหล็กเก่า หรือเหล็กใหม่ จะได้เลือกใช้รองพื้นให้ถูกต้อง โดยคุณสมบัติของสีเคลือบเงาเหล็กนั้นจะช่วยเพิ่มความเงางามให้ผิวเหล็กดูสวยขึ้น มีความทนทาน และแข็งแรง พร้อมกับช่วยป้องกันสนิม จึงลดโอกาสที่เหล็กจะผุกร่อนง่าย และช่วยยืดอายุการใช้งานให้นานกว่าเดิม

รู้จักกับ แลคเกอร์ (Lacquer)

แลคเกอร์ เป็นสารเคลือบผิววัตถุที่ระเหยไว ประกอบด้วย ไนโตรเซลลูโลส, พลาสติไซเซอร์, เรซิน, เอทิลแอลกอฮอล์ และแบททิล แอซิเตท แลคเกอร์มีทั้งแบบทา และแบบพ่น มีคุณสมบัติหนืดและแห้งไว เมื่อจะใช้งานให้ผสมกับทินเนอร์ เพื่อให้แลคเกอร์แห้งช้าลง และช่วยให้ทำงานได้ง่ายขึ้น ส่วนใหญ่ใช้ในการเคลือบผิววัตถุต่าง ๆ เช่น งานไม้ งานโลหะ งานเคลือบพื้นผิว ปกป้องพื้นผิว และช่วยให้เกิดความเงางาม

แลคเกอร์ถูกค้นพบครั้งแรกในประเทศจีน เป็นผลิตภัณฑ์ของเหลว ที่ประกอบด้วยสารหลายชนิด ได้แก่ สารเคลือบ ตัวทำละลาย และสารปรับปรุงคุณภาพ ถูกใช้ประโยชน์อย่างมาก สำหรับเคลือบผิววัสดุ โดยเฉพาะในงานแผ่นโลหะ และงานไม้ ทำหน้าที่ ทำให้เกิดความเงางาม ช่วยกันน้ำ และทนต่อการกัดกร่อน

วิธีการใช้งานแลคเกอร์ เป็นอย่างไร ?

การเคลือบวัสดุต่าง ๆ ด้วยแลคเกอร์ เป็นกระบวนการที่นำแลคเกอร์ในสภาพของเหลว ที่ถูกทำละลายด้วยตัวทำละลาย มาพ่น หรือทาเคลือบผิวของวัสดุเพียงรอบเดียว หรือหลายรอบ จากนั้น นำวัสดุไปอบด้วยความร้อน หรือปล่อยให้แห้ง โดยตัวทำละลายจะระเหยออกไปหมดเหลือเพียงแลคเกอร์ในสภาพแห้งที่สามารถยึดเกาะติดบนพื้นผิวของวัสดุไว้ โดยสามารถมองเห็นพื้นผิวของวัสดุได้เหมือนเดิม แต่จะมีความเงางามเพิ่มขึ้น โดยมีคุณสมบัติ ดังนี้

  1. เพิ่มความเงาวาวของวัสดุ ทำให้วัสดุแลดูสวยงาม
  2. ป้องกันการเสื่อมสภาพของพื้นผิววัสดุ ทั้งจากความร้อน แสงแดด น้ำ และสารกัดกร่อน
  3. ป้องกันการเกิดปฏิกิริยาระหว่างวัสดุกับสารเคมีอื่น ๆ โดยเฉพาะวัสดุประเภทโลหะ ที่เกิดปฏิกิริยาได้ง่าย

ขั้นตอนการผสมแลคเกอร์กับทินเนอร์

ก่อนใช้แลคเกอร์ จะต้องทำละลายแลคเกอร์ก่อน ตัวทำละลายที่นิยมใช้ คือ ทินเนอร์ (Thinner) มีขั้นตอน ดังนี้

  • ผสมแลคเกอร์เงา กับทินเนอร์ในภาชนะผสม โดยใช้แลคเกอร์เงา 1 ส่วน และทินเนอร์ 2 ส่วน
  • ใช้ไม้คนส่วนผสมให้เข้ากัน สังเกตได้โดย วิธียกไม้คนขึ้นดู แล้วดูการหยดลงของแลคเกอร์ หากส่วนผสมเข้ากัน จะเห็นการหยดตัวเป็นหยดขาดกัน ไม่หยดยืดเป็นเส้นยาว แสดงว่าส่วนผสมทั้งสองเข้ากันดี สามารถนำไปใช้ได้ แต่หากหยดยืดเป็นเส้นยาว แสดงว่าส่วนผสมยังไม่เข้ากัน จึงต้องคนต่อจนได้ส่วนผสมที่เข้ากัน
  • ให้ผสมแลคเกอร์ ในปริมาณที่เพียงพอกับปริมาณชิ้นงานที่ต้องใช้ใน 1 วันทำงาน หรือผสมในปริมาณที่ต้องใช้ใน 2-4 ช่วงทำงานใน 1 วัน หรือพอเหมาะกับชิ้นงานขนาดเล็ก ที่ใช้ในปริมาณไม่มาก ไม่ควรผสมจำนวนมากจนเหลือค้างคืน

ขั้นตอนวิธีการทาแลคเกอร์ในงานไม้

  • ขัดผิวหน้าของไม้ด้วยกระดาษทรายละเอียด แนะนำเป็นกระดาษทรายขัดไม้ เบอร์ 0 ขัดถูไปมาให้ทั่วถึงจนผิวหน้าไม้มีความราบลื่น ไม่มีจุดสะดุดมือถือว่าใช้ได้ จากนั้น ทำความสะอาดผิวหน้าด้วยการใช้ผ้าแห้งเช็ดฝุ่นไม้ให้หมด
  • น้ำแปรงทาจุ่มลงในแลคเกอร์ที่ผสมไว้ จุ่มลงให้เกือบมิดขนแปรง จากนั้น ยกแปรงขึ้นในแนวดิ่ง เริ่มทาแลคเกอร์บริเวณขอบริมซ้าย จุดที่ยื่นสุดบนแผ่นไม้ก่อน (หากถนัดมืออีกข้างจะตรงข้ามกัน)
  • วางขนแปรงให้ราบติดกับพื้นผิว โดยไม่ต้องใช้แรงมือกด จากนั้น ลากแปรงให้ขนทาติดไปกับพื้นผิวไปทางขวามือ (หากถนัดมืออีกข้าง จะตรงข้ามกัน) จนสุดขอบด้านขวา จากนั้น เริ่มทา และลากจากจุดบริเวณขอบด้านขวามือไปหาบริเวณขอบด้านซ้ายมือ
  • ทำการลากทาแลคเกอร์ ซ้าย-ขวา ไปมาจนสุดขอบแผ่นไม้แล้ว ปล่อยทิ้งไว้ให้แห้งประมาณ 30 นาที
  • เมื่อปล่อยจนแห้งแล้ว ให้นำกระดาษทรายเบอร์ 0 ที่ใช้แล้วจนไม่มีเม็ดทรายเหลืออยู่มาขัดผิวหน้าให้เรียบ และใช้ผ้าแห้งสะอาดเช็ดตาม จากนั้น จึงเริ่มทารอบที่ 2 ตามขั้นตอนในข้อ 3-4 อีกครั้ง หรือหากต้องการรอบที่ 3 หรือมากกว่า ให้ทำตามข้อ 3-5 เป็นรอบ ๆ ไป

แวะชมสินค้าของเราได้ที่ www.homehub.co.th

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *